" เป็นผู้นำ ด้านการบริหารจัดการป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนอย่างยั่งยืน รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ " วิสัยทัศน์ สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ

โครงการพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว

จังหวัดลำพูน
 

ความเป็นมาและพระราชดำริ

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพพื้นที่บริเวณที่สร้างอ่างเก็บน้ำแม่อาวน้อย  ตำบลนครเจดีย์  อำเภอป่าซาง  จังหวัดลำพูน  เมื่อวันที่  11  มีนาคม  2535  โดยมีพลโทไพโรจน์  จันทร์อุไร  แม่ทัพภาคที่  3  นายสนิทวงค์  อุเทศนันทน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน  นายสุเมธ  ตันติเวชกุล  เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และนายปราโมทย์  ไม้กลัด  ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านให้คำปรึกษาการจัดสรรน้ำและปรับปรุงบำรุงรักษา เข้าเฝ้ารับเสด็จและถวายงาน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านป่าไม้ โดยสรุปดังนี้
“กรมป่าไม้พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการจำแนกประเภทป่าเสื่อมโทรม บริเวณที่ราบดินยังมีคุณภาพดี เพื่อจัดสรรให้ราษฎรไม่มีที่ทำกินได้เข้าอยู่เป็นการถาวรจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ส่วนพื้นที่ดอย พื้นที่เนินสูง หรือภูเขาต่าง ๆ รวมทั้งพื้นที่ที่ดินคุณภาพไม่ดีและเสียสภาพป่าให้ดำเนินการปลูกป่าทดแทน”

โดยให้ดำเนินการในลักษณะโครงการร่วมใช้แผนที่ฉบับเดียวกันหน่วยงานหลักในการดำเนินการประกอบด้วย กรมป่าไม้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมชลประทาน  กรมพัฒนาที่ดิน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  (สำนักงาน  กปร.)  เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน


วัตถุประสงค์และเป้าหมาย

วัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของโครงการ  คือการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว ให้มีสภาพที่สมบูรณ์  เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร  และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว  โครงการฯ  (งานด้านป่าไม้)  จึงมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้

  1. ป้องกันดูแลรักษาป่า  ตลอดจนปลูกป่าเพิ่มเติม
  2. จัดที่ดินทำกินและอยู่อาศัย  ยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่โครงการให้ สูงขึ้น  โดยการพัฒนาอาชีพในและนอกเกษตรกรรม รวมถึงการพัฒนาด้านสังคมด้วย
  3. ปลูกสร้างจิตสำนึกให้แก่ราษฎร ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการ และพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำ  รวมทั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้  เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

ระยะเวลาดำเนินการ

โครงการมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการครั้งแรก  5  ปี  (พ.ศ. 2536 – 2540)  และเพื่อให้การดำเนินโครงการในระยะเริ่มต้น บังเกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ในปี พ.ศ.2535 กรมป่าไม้ จึงเริ่มการปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมก่อน จำนวน 1,000 ไร่  ปัจจุบันปลูกและฟื้นฟูป่าได้  61,160 ไร่

 

 
สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ 61 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทรศัพท์ : (662) 561 4292-3 # 5103 โทรสาร : (662) 579 2740