" เป็นผู้นำ ด้านการบริหารจัดการป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนอย่างยั่งยืน รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ " วิสัยทัศน์ สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชดำริด้านทรัพยากรธรรมชาติและจุดเริ่มต้น อพ.สธ.
There are no translations available.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระราชดำริ พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส

ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและจุดเริ่มต้น อพ.สธ.

 

       1)  .. 2503 ทรงพยายามปกปักรักษายางนา

 

            ในฤดูร้อนเกือบทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในระยะแรกเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟ ต่อมาเสด็จฯโดยรถยนต์ เมื่อเสด็จฯ ผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี สองข้างทางมีต้นยางขนาดใหญ่ขึ้นอยู่มาก มีพระราชดำริที่จะสงวนบริเวณป่าต้นยางนี้ไว้เป็นสวนสาธารณะด้วยพระราชทรัพย์ แต่ไม่สามารถจัดถวายตามพระราชประสงค์เพราะมีราษฎรเข้ามาทำไร่ทำสวนในบริเวณนั้นมาก จะต้องจ่ายเงินทดแทนในการจัดหาที่ใหม่ในอัตราที่ไม่สามารถจัดได้

 

       2)  .. 2504 ป่าสาธิตทดลอง

 

            เมื่อไม่สามารถดำเนินการปกปักรักษาต้นยางนาที่อำเภอท่ายางได้  จึงทรงทดลองปลูก
ต้นยางเอง โดยทรงเพาะเมล็ดที่เก็บจากต้นยางนาในเขตอำเภอท่ายาง ในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกต้นยางนาเหล่านั้น ในแปลงทดลองป่าสาธิตใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา พร้อมข้าราชบริพาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.. 2504 จำนวน 1,250 ต้น ต้นยางที่ท่ายางสูญสิ้นแต่พันธุกรรมของยางนาเหล่านั้นยังอนุรักษ์ไว้ได้ที่สวนจิตรลดา

 

            ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพรรณไม้จากภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณที่ประทับสวนจิตรลดา เพื่อให้เป็นที่ศึกษาพรรณไม้ของนิสิต นักศึกษาแทนที่จะต้องเดินทางไปทั่วประเทศ

 

          3) วันที่ 5 ธันวาคม 2521 ในเรื่องรักษาทรัพยากร

พระบรมราโชวาทในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธี เฉลิมพระชนมพรรษา

ดังความตอนหนึ่งว่า

 

....ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่ง สวยๆ งามๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย...

 

 

4) วันที่ 5 ธันวาคม 2521 ในเรื่องรักษาทรัพยากร

พระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ดังความตอนหนึ่งว่า

 

...ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญเราต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว...

 

 

3)  .. 2528 ทรงให้ใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออนุรักษ์พืช

 

                   ในวันพืชมงคล วันที่ 9 พฤษภาคม พ.. 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชที่โครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา และมีพระราชกระแสให้อนุรักษ์ต้นขนุนหลังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

              ความสำเร็จของการใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช  ขยายพันธุ์ขนุนไพศาลทักษิณนำไปสู่การขยายพันธุ์ต้นไม้ที่มีลักษณะพิเศษ  ซึ่งเป็นพืชเอกลักษณ์ของพระราชวังต่าง ๆ  แล้วอนุรักษ์ไว้อีกหลายชนิด  ได้แก่ พุดสวน มณฑา ยี่หุบ ที่อยู่ในพระบรมมหาราชวัง  และสมอไทยในพระที่นั่งอัมพรสถานมงคล  ในขณะเดียวกันก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บรักษาพันธุกรรมของพืชเอกลักษณ์ในสภาวะปลอดเชื้อในอุณหภูมิต่ำ เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต จนทำให้เก็บรักษาเนื้อเยื่อขนุนที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส ในไนโตรเจนเหลวมีเนื้อเยื่อขนุนที่รอดชีวิตอยู่ได้ 23 เปอร์เซ็นต์

 

       4)  .. 2529 ทรงให้อนุรักษ์พันธุกรรมหวาย

 

              มีพระราชดำริให้อนุรักษ์และขยายพันธุ์หวายชนิดต่าง ๆ โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเตรียมการแก้ปัญหาการขาดแคลนหวายในอนาคต หวายที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและเป็นเป้าหมายคือ หวายข้อดำ หวายน้ำผึ้ง หวายตะค้าทอง หวายหอม หวายแดง หวายโป่ง หวายกำพวน หวายงวย และหวายขี้เสี้ยน เมื่อขยายพันธุ์ได้ต้นที่สมบูรณ์ของหวายข้อดำ และหวายตะค้าทองแล้ว ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทำการทดลองปลูกต้นหวายเหล่านั้นในป่ายางนาใกล้พระตำหนักเรือนต้น สวนจิตรลดา และมีพระราชดำริให้ทดลองปลูกที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร อีกด้วย

 

              การดำเนินงานเกี่ยวกับหวายได้มีการขยายผลไปสู่ความร่วมมือระหว่างโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา สำนักพระราชวัง กับส่วนราชการจังหวัดตรัง จัดทำแปลงรวบรวมพันธุ์หวายขึ้นในพื้นที่1,000 ไร่ ที่ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เมื่อปี พ.. 2532 และได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นสวนหวายเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่อนุรักษ์พันธุ์หวายชนิดต่าง ๆ ของประเทศไทยแล้ว ยังได้ใช้เป็นสถานศึกษา วิจัย และขยายพันธุ์หวายเศรษฐกิจ เพื่อให้ผลประโยชน์ถึงประชาชนอย่างกว้างขวางด้วย

 

       5)  .. 2529 ทรงให้สร้างสวนพืชสมุนไพร ในโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา  พระราชวังดุสิต

 

            ในปี พ.. 2529 นอกจากมีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์พันธุกรรมหวายแล้ว ยังได้ให้
จัดทำสวนพืชสมุนไพรขึ้นในโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา  เพื่อรวบรวมพืชสมุนไพรมาปลูกเป็นแปลงสาธิต  และรวบรวมข้อมูล สรรพคุณ  ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์ กับทั้งให้มีการศึกษาขยายพันธุ์สมุนไพร  โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและเผยแพร่ความรู้ที่ได้สู่ประชาชน

 

       6)  .. 2531 ทรงให้พัฒนาพันธุ์ผักโดยการผสมสองชั้น

              เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสกับหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ให้ดำเนินการผสมพันธุ์ผักสองชั้น (double hybridization) พร้อมกันไปทั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และในห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชของโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา

 

7)      พ.ศ. 2547 ทรงให้ประเทศที่กำลังพัฒนารู้เท่าและรู้ทันในเรื่องการศึกษาวิจัย

              เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2547  ณ โรงแรมแชงกรี-ลา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส ในพิธีเปิดการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 5 เรื่องวิวัฒนาการของพันธุศาสตร์และผลกระทบต่อโลก ความตอนหนึ่งว่า

 

              ....ในปัจจุบัน การศึกษาวิจัยด้านพันธุศาสตร์มีความเจริญก้าวหน้ามาก และมีการนำผลที่ได้ไปปรับใช้ในกิจการด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่จะปรารภกับทุกท่านว่า ความรู้ต่าง ๆ เหล่านั้น แม้จะมีประโยชน์มากก็จริง แต่ถ้าใช้ไม่ถูกเรื่องถูกทางโดยไม่พิจารณาให้ดีให้รอบคอบแล้ว ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายแก่ชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงได้เช่นกัน เหตุนี้ ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาจำเป็นจะต้องศึกษาให้รู้เท่าและรู้ทัน  จึงเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่าง ๆ มาประชุมปรึกษาหารือกัน รวมทั้งนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับเรื่องวิวัฒนาการของพันธุศาสตร์และผลกระทบต่อโลก ทำให้หวังได้ว่า การนำความรู้ด้านพันธุศาสตร์ไปปรับใช้ในกิจการด้านต่าง ๆ จะเป็นไปด้วยความระมัดระวังรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดแก่มวลมนุษยชาติ...

 

 
สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ 61 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทรศัพท์ : (662) 561 4292-3 # 5103 โทรสาร : (662) 579 2740