" เป็นผู้นำ ด้านการบริหารจัดการป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนอย่างยั่งยืน รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ " วิสัยทัศน์ สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านทรัพยากรธรรมชาติและ อพ.สธ.

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พระราชดำริ พระราโชวาท พระราชดำรัส พระราชวินิจฉัย

ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและ อพ.สธ.


       1)  .. 2535 ทรงให้ก่อตั้ง อพ.สธ.

เมื่อเดือนมิถุนายน พ.. 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริกับนายแก้วขวัญ  วัช โรทัย เลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ให้ดำเนินการ อพ.สธ. โดยมอบหมายให้ฝ่ายวิชาการ โครงการส่วนพระองค์ฯ  เป็นผู้ดำเนินการ สำหรับงบประมาณดำเนินงานนั้น สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สนับสนุนให้กับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อใช้ในการดำเนินงานของ อพ.สธ. ได้แก่การจัดสร้างธนาคารพืชพรรณ ขึ้นในปี  .. 2536  สำหรับเก็บรักษาพันธุกรรมพืชที่เป็นเมล็ด สารพันธุกรรม (DNA) และเนื้อเยื่อพืช (plant tissue culture) และสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานในทุกกิจกรรมทั้ง 8 กิจกรรม ของ อพ.สธ. เรื่อยมาจนกระทั่งปีงบประมาณ 2549  สำนักพระราชวังจึงจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินงาน อพ.สธ. ต่อไปในฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักพระราชวัง

 

         2)  วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.. 2536  พระราชทานแนวทางการดำเนินงานของ อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่หนึ่ง

ณ อาคารที่ประทับในสำนักงานชลประทานเขต 1 ถนนทุ่งโฮเตล จังหวัดเชียงใหม่

                   -มีพระราชปรารภถึงการเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปทางจังหวัดนนทบุรี ทอดพระเนตรเห็นพันธุ์ไม้เก่ายังมี อยู่มาก บางพันธุ์อาจยังคงมีลักษณะดีอยู่ เช่น ทุเรียน แต่สวนเหล่านั้นกำลังจะเปลี่ยนสภาพไป จึงทรงห่วงว่าพันธุ์ไม้เหล่านั้นจะหมดด้วย

                   -พระราชทานแนวทางการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ควรอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่มิใช่พืชเศรษฐกิจไว้ด้วย

                   -ตามเกาะต่าง ๆ มีพืชพรรณอยู่มาก แต่ยังไม่มีผู้สนใจเท่าไร จึงน่าจะมีการสำรวจพืชพรรณตามเกาะด้วย

                   -พระราชทานแนวทางการสอนและอบรมให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ควรใช้วิธีปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจของพืชพรรณ และเกิดความปิติที่จะศึกษาและอนุรักษ์ต่อไป การใช้วิธีการสอนการอบรมที่ให้รู้สึกกลัวว่า หากไม่อนุรักษ์แล้วจะเกิดผลเสีย เกิดอันตรายแก่ตนเอง  จะทำให้เด็กเกิดความเครียดซึ่งจะเป็นผลเสียต่อประเทศในระยะยาว

                   -มี พระราชดำริให้ทำศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช โดยมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถแสดงลักษณะของพืชออกมาเป็นภาพสีได้ เพื่อความสะดวกในการอ้างอิงค้นคว้า

                  

          3)  วันที่ 28 ธันวาคม พ.. 2538 พระราชทานแนวทางการดำเนินงาน งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน

ณ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ตาก จังหวัดตาก

                   -พระราชทานแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน

-การนำต้นไม้มาปลูกเพิ่มเติมให้เด็กรู้จักนั้น ต้องไม่มีพืชเสพติด

                   -ควรให้เด็กหัดเขียนตำรา จากสิ่งที่เรียนในสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน

                   -ควรนำตัวอย่างดิน หิน แร่ มาแสดงไว้ในห้องพิพิธภัณฑ์พืชด้วยเพราะในจังหวัดตาก มีหิน แร่ อยู่มากชนิด

 

          4)  วันที่ 6 มิถุนายน พ.. 2539 ทรงให้ อพ.สธ. ดำเนินงานในพื้นที่ต่าง ๆ

ณ เขาเสวยกะปิ ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี

                   -ทรงให้ อพ.สธ. ดำเนินการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่เกาะละวะ

                   -ทรงให้อนุรักษ์ต้นหว้าใหญ่ในบริเวณพระราชวังไกลกังวล ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นต้นหว้าที่ขึ้นอยู่ในที่นั้นก่อนมีการก่อสร้างพระราชวัง

                   -ทรงให้ทำการสำรวจขึ้นทะเบียนรหัสต้นพืชที่ขึ้นอยู่เดิม  ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

                   -ทรงให้วัดพิกัดตำแหน่งของต้นพืชที่ขึ้นทะเบียนไว้

                   -ทรงให้รวบรวมพันธุกรรมหวายชนิดต่าง ๆ

                   -ทรงให้มีการปลูกรักษาพันธุกรรมพืชไว้ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

         

5)  วันที่ 29 กรกฎาคม พ.. 2540  ทรงให้ดำเนินงานเรื่องการจัดการฐานข้อมูลและสื่อในการสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชนให้รักพืชพรรณ

ณ อาคารชัยพัฒนา พระราชวังดุสิต สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร

                   -ทรงให้หาวิธีดำเนินการให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับพันธุกรรมพืชของหน่วยงานต่าง ๆ สื่อถึงกันในระบบเดียวกันได้

                   -ทรง ให้หาวิธีการที่จะทำให้เด็กเกิดความสนใจในพืชพรรณต่าง ๆ และเกิดความสงสัยตั้งคำถามตนเองเกี่ยวกับพืชพรรณที่ตนสนใจนั้น ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษา ค้นคว้าวิจัย ทดลองอย่างง่าย ๆ ที่โรงเรียนที่ไม่มีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ดีนักก็สามารถดำเนินการได้ หากอาจารย์ในโรงเรียนต่าง ๆ ทำได้ก็จะช่วยให้เด็กเป็นคนฉลาด

 

          6)  วันที่ 14 สิงหาคม พ.. 2540 พระราโชวาทและแนวทางการดำเนินงาน อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่สอง

      ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา กรุงเทพฯ

                   -พระราชทานพระราโชวาทให้คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการบริหารผู้ร่วมสนองพระราชดำริและผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย ที่เฝ้าทูลละอองพระบาทในการประชุมประจำปีโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

ข้าพเจ้ายินดีและขอบคุณที่ทุกคนเข้ามาประชุมกันพร้อมหน้าในวันนี้  ดังที่ได้

กล่าวมาแล้วว่า โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ นี้ ได้ดำเนินการมาเป็นเวลาถึง 5 ปีแล้ว และคิดกันว่าจะทำต่อไปในช่วงที่สองอีก 5 ปี และคิดมาใหม่ว่าในขั้นที่สองนี้จะทำในลักษณะไหน ที่จริงในเบื้องต้นนั้น  ข้าพเจ้า ก็มิได้เป็นนักพฤกษศาสตร์หรือศึกษาทางนี้มาโดยตรง ถึงแม้ศึกษาตอนนี้ก็คงจะสายไปเสียแล้วเพราะว่าขณะนี้ไม่สามารถที่จะจำชื่อคน สัตว์ สิ่งของได้มากเท่าที่ควร แต่ว่าเหตุที่สนใจในพืชพรรณหรือทรัพยากรต่าง ๆ ของประเทศเรามานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางพืช เหตุผลที่ศึกษาเพราะถือว่าง่ายต่อการศึกษาอย่างอื่น เวลาไปไหนที่มีคนตามกันเยอะแยะ ถ้าศึกษาสัตว์ สัตว์ก็วิ่งหนีหมด แต่พืชนั้นเขาอยู่ให้ศึกษาได้ พอศึกษาไปสักพักก็เกิดความสนใจว่า นอกจากทางกรมป่าไม้ซึ่งได้ติดต่อกันในครั้งแรก เบื้องต้นเพราะว่าชอบไปท่องเที่ยวในที่ต่าง ๆ ตามป่าเขา ดูว่าในเมืองไทยมีสภาพภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์อย่างไร และก็ได้ศึกษาเรื่องต้นไม้ต่าง ๆ  ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ยังเห็นว่ามีหน่วยงานของ รัฐ ของเอกชน ทั้งเป็นหน่วยงานของราชการ เช่น กรมป่าไม้ กรมวิชาการเกษตร และสถาบันการศึกษาที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของพืช ศึกษาว่าพืชกี่ชนิด ทั้งเรื่องชื่อของพืชชนิดต่าง ๆ เรื่องการอนุกรมวิธาน เป็นต้น ก็ศึกษากันหลายแห่ง จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่าน่าจะมีการรวบรวมว่าแต่ละสถาบันนั้น ได้ทำงานในส่วนของตนอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น พืช ก็ได้ศึกษาพืชแต่ละแห่ง ได้รวบรวมนั้นชื่อต่างกันหรือซ้ำกันอย่างไร เพื่อที่จะให้รวมกันว่าทั้งประเทศนั้นเรามีอะไรกันบ้าง ที่จริงแล้วงานที่จะศึกษาพืชหลายชนิดนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยากและทำได้ช้า คน ๆ เดียวหรือสถาบัน ๆ เดียวนั้นครอบคลุมไม่ได้ทั้งหมด ถ้ามีหลาย ๆ หน่วยงานช่วยกันครอบคลุมก็อาจจะได้มาก ถ้าต่างคนต่างไม่รู้กัน ก็อาจจะเกิดเป็นที่น่าเสียดายว่าจะไม่ได้ข้อมูลเต็มที่ จึงคิดว่าอยากจะทำฐานข้อมูลที่นักวิชาการทุกคนจะใช้ในการค้นคว้ารวมไว้ด้วยกัน ในวังมีความรู้สึกว่า 1 ตาราง กิโลเมตรของวังนี้ก็ใหญ่โตพอสมควร แต่ว่าที่จริงแล้วถ้าจะเอางานทุกสิ่งทุกอย่างมาสุมกันย่อมจะไม่พอ พื้นที่ไม่ได้ ก็ต้องทำงานอะไรที่จะประหยัดที่ดินที่สุด ในตอนนั้นก็เลยคิดว่าทำฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้การเรียกชื่อพืชที่ทุกคนจะเข้าถึงได้ จึงพัฒนาจากจุดนั้นมาเป็นงานต่าง ๆ ที่ ดร.พิศิษฐ์ ได้กล่าวเมื่อสักครู่นี้ ซึ่งงานที่กล่าวถึงนี้ก็เป็นงานที่หน่วยงานราชการ ต่าง ๆ ได้ทำมาแล้วเป็นจำนวนมาก และหลังจากโครงการฯ นี้ก็มีการตั้งขึ้นใหม่ เพราะฉะนั้นก็ยังคิดว่าถ้ามีการได้ประชุมกันพร้อมกันอย่างนี้ จะได้มาตกลงกันแน่นอนว่าใครทำอะไร และในส่วนที่เหมือนกัน ถ้าซ้ำกันโดยไม่จำเป็นก็อาจจะตกลงกัน แบ่งกันว่าอันนี้งานนี้ใครจะทำ หรืองานที่หน่วยโครงการทางด้านสำนักพระราชวังเคยทำอยู่ แต่ว่าเมื่อมีหน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบโดยตรงรับไปทำแล้ว ทางสำนักพระราชวังก็คิดว่าน่าจะตัดได้ในส่วนนั้นและก็หันมาทำงานทางด้านการ ประสานงานหรือความร่วมมืออย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเข้าใจว่าก็เป็นการทันสมัยในปัจจุบัน ซึ่งประเทศค่อนข้างจะฝืดเคือง เพราะฉะนั้นทำงานอะไร ถึงแม้จะเป็นงานที่ดี ถ้าตกลงกันได้แล้วก็จะเป็นการประหยัดพลังคนหรือพลังเงินงบประมาณในส่วนนี้ ไม่จำเป็นต้องให้ในหน่วยงานอื่นหรือถ้าให้หน่วยงานอื่นทำก็ต้องให้ทำไป และงานนี้เราอาจจะต้องมานั่งพิจารณาคิดดูว่าจะทำงานได้โดยประหยัดอย่างไร บางส่วนที่อาจจะยังไม่จำเป็นในขั้นนี้หรือว่าทำได้ไม่ต้องเน้นเรื่องความหรูหราหรือความสวยงามมากนัก เอาเฉพาะที่ใช้จริง ๆ และก็ประหยัดไปได้เป็นบางส่วนก็ดี

                   ส่วนสำหรับเรื่องของโรงเรียนนั้น ก็ได้มีประสบการณ์ในการที่ไปเยี่ยมโรงเรียนในภาคต่าง ๆ มาหลายแห่ง ก็เห็นว่าเรื่องที่จะสอนให้นักเรียนหรือให้เด็กมีความรู้ และมีความรักในทรัพยากร คือความรักชาติ รักแผ่นดินนี้ก็คือ รักสิ่งที่เป็นสมบัติของตัวเขา การที่ให้เขารักษาประเทศชาติหรือรักษาสมบัติของเขานั้น ทำได้โดยสร้างความรักความเข้าใจ ถ้าใครไม่รู้จักกัน เราก็ไม่มีความสัมพันธ์ ไม่มีความผูกพันต่อกัน แต่ว่าถ้าให้เขารู้จักว่าสิ่งนั้นคืออะไร เขาจะรู้สึกชื่นชมและรักหวงแหนในสิ่งนั้นว่าเป็นของตนและจะทำให้เกิด ประโยชน์ได้ เคยได้แนะนำโรงเรียนต่าง ๆ ที่ได้ไปเยี่ยมไม่เฉพาะแต่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ นี้ โรงเรียนทั่ว ๆ ไปด้วยว่า นอกจากพืชพรรณแล้ว สิ่งที่มีในธรรมชาติหรือสิ่งที่หาได้ง่าย ๆ นั้นก็อาจจะเป็นอุปกรณ์การสอนในวิชาต่าง ๆ ได้หลายอย่างแม้แต่วิชาศิลปะก็ให้มาวาดรูปต้นไม้ ไม่ต้องหาของอื่นให้เป็นตัวแบบ หรือในเรื่องภาษาไทยการเรียงความก็อาจช่วยในการเขียนรายงานทำให้หัดเขียนหนังสือหรือแต่งคำประพันธ์ในเรื่องของพืชเหล่านี้ได้ หรือเป็นตัวอย่างงานศึกษา งานวิทยาศาสตร์ หรือวิชาอื่น ๆ ดังที่ ดร.พิ ศิษฐ์ ได้กล่าวมา ในที่นี้ที่ยังไม่เคยกล่าวคือเรื่องของวิชาการท้องถิ่น ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว ที่ว่าจะให้นักเรียนได้ศึกษาความรู้ท้องถิ่น นอกจากความรู้ที่เป็นมาตรฐานจากส่วนกลางมาแล้ว แม้แต่ตำราก็มีการส่งเสริมให้ครู อาจารย์ใน ท้องถิ่นนั้นได้รวบรวมความรู้หรือได้แต่งขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาวิชาการทางด้านศิลปวัฒนธรรม อาชีพท้องถิ่น แต่ในด้านของธรรมชาตินั้นยังมีค่อนข้างน้อย เท่าที่ไปแนะนำมาในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรนั้น ได้เสนอว่าไม่ใช่เป็นเฉพาะที่ว่าจะให้เด็กนักเรียนปลูกป่าหรือว่าให้ อนุรักษ์ดินปลูกหญ้าแฝกอย่างเดียวก็จะพยายามจะให้ออกไปดูข้าง ๆ โรงเรียนว่าที่นั่นมีอะไรอยู่ และต้นไม้นั้นชื่ออะไร เป็นอะไร พอดีมีประสบการณ์จากการที่ได้เคยออกไปส่งเสริมในเรื่องของโภชนาการ ในระยะแรก ๆ ที่เริ่มทำงานเมื่อ พ..2523  ใน ช่วงนั้นออกไปทำงานก็ทำงานอย่างค่อนข้างจะเบี้ยน้อยหอยน้อย คือเงินไม่ค่อยมีต้องออกเองบ้าง ทำให้ไม่มีเงินที่จะส่งเสริมเรื่องเมล็ดพันธุ์ผัก หรืออุปกรณ์เครื่องใช้มากนัก ได้ครบทุกแห่งก็ให้ใช้พืชผักในท้องถิ่นนั้น เขาก็รู้และก็มีชื่อพื้นเมือง แต่ว่าพอเอาเข้าจริง แม้แต่ชื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่มีใครแน่ใจว่าชื่ออะไร ก็นำมาศึกษา และเวลานี้ก็ได้เห็นว่ามีการศึกษาอย่างกว้างขวาง คือ ได้ศึกษาว่าคุณค่าทางอาหารของผักพื้นเมืองเหล่านั้นมีอะไรบ้าง และได้มีการวิเคราะห์พิษภัยของพืชเหล่านั้นไว้ด้วย เดิมเท่าที่คิดก็ยอมรับว่าไม่ได้คิดเรื่องพิษภัยเพราะเห็นว่าคนรับประทานกัน อยู่ประจำก็ยังมีอายุยืน แต่เห็นว่าจากการวิจัยของนักวิชาการก็ได้ทราบว่ามีพืชพื้นบ้านบางอย่างที่รับประทานกันอยู่มีพิษบ้าง ทำให้เกิดความคิดที่ว่าถ้าบริโภคกันในส่วนที่เป็นท้องถิ่นก็อาจจะไม่เป็นพิษเป็นภัยมาก เพราะว่าในวันนั้นเก็บผักชนิดนี้ได้ก็นำมาบริโภค อีกวันก็เก็บได้อีกอย่างก็นำมาบริโภค แต่ถ้าสมมติว่าเป็นการส่งเสริมเป็นโครงการขึ้นมาแล้ว ก็จะมีการขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก และก็รับประทานอย่างนี้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จะมีอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างยิ่งก็อาจจะเป็นได้ อันนี้ที่ยกตัวอย่างแสดงว่าวิชาการนี้แตกแขนงไปหลายอย่าง และมีการศึกษาได้หลายอย่าง และก็มีบุคคลหลายคนที่ช่วยกันคิดช่วยกันทำ ถ้าจะช่วยกันจริง ๆ นี้ ก็อาจจะต้องแบ่งหน้าที่ ถึงขั้นตอนนี้ก็ต้องแบ่งหน้าที่กันเพื่อที่จะแบ่งในด้านปริมาณงานที่ทำหรือ งบประมาณที่ทำ ก็ได้รับการสั่งสอนจากผู้หลักผู้ใหญ่อยู่เสมอว่า ถ้าคนเรามีความคิดพุ่งแล่นอะไรต่าง ๆ นานา ก็คิดได้ แต่ถึงตอนทำจริง มีขั้นตอนเหมือนกัน การใช้คนให้ทำอะไรนี่ ก็ต้องคิดถึงกระบวนการว่า จะไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการนั้น จะต้องใช้ทั้งเงินใช้ทั้งเวลา ใช้ทั้งความคิดความ อ่านต่าง ๆ ซึ่งจะไปใช้ใครทำก็ต้องให้แน่ใจว่า เขาเต็มใจหรืออาจเต็มใจแต่ว่าภารกิจมากมีเวลาจะทำให้เท่าใด หรือเขาอาจทำให้ด้วยความเกรงใจเราแล้วว่าทีหลัง อย่างนี้เป็นต้น ก็บอกว่าไม่เป็นไร เพราะว่าเวลาทำอะไรก็มิได้บังคับ ก็ขอเชิญเข้าร่วมช่วยกัน แต่ถ้าคนใดมีข้อขัดข้องหรือมีข้อสงสัยประการใด ก็ไถ่ถามกันได้ไม่ต้องเกรงใจ เพราะถือว่าทำงานวิชาการแบบนี้ไม่เคยจะคิดว่าโกรธเคือง ถ้าใครทำไม่ได้ ไม่ได้ก็แล้วไป ก็ทำอย่างอื่นทำอย่างนี้ไม่ได้ ก็ต้องทำได้สักอย่าง คิดว่าโครงการนี้ขั้นตอนต่อ ไป อาจจะต้องดูเรื่องเหล่านี้ให้ละเอียดยิ่งขึ้น ใครทำอะไรได้ และประโยชน์อาจจะมีอีกหลายอย่าง เช่น งานบางอย่างหรืออย่างพืชนี้จะมีประโยชน์ในเชิงธุรกิจได้อีกก็มีด้วยซ้ำ ถ้าเราทราบสรรพคุณของเขาและนำมาใช้ ในส่วนที่ว่าถ้าขยายพันธุ์แล้วอันตราย คือ การขยายพันธุ์เหล่านี้ก็อาจจะเป็นการช่วยในเรื่องของการส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรเพิ่มขึ้นอีกก็อาจเป็นได้ ทั้งนี้ก็ต้องไม่ละเลยในเรื่องของวิชาการ สิ่งที่ถูกต้องอะไรที่เป็นคุณ อะไรที่เป็นโทษ และยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องในเรื่องของงาน ของเงิน ในที่นี้ยังมีเรื่องเพิ่มอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของที่ดิน อาจจะต้องมีการกำหนดแน่นอนว่าที่ดินนั้นอยู่ในสภาพไหน สภาพการถือครองในลักษณะใด ศึกษาในเรื่องของกฎหมายให้ถูกต้องว่าใครมีสิทธิ์หรือหน้าที่ทำอะไรบ้าง ใครทำอะไรไม่ได้ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา เป็นเรื่องที่จะต้องจุกจิกมากอีกหลายอย่าง ที่พูดนี้มิ ได้หมายความถึงว่าจะเป็นการจะจับผิดว่าใครทำผิดใครทำถูก แต่ว่างานโลกปัจจุบันนี้ ทำอะไรก็รู้สึกว่าเรื่องการรักษามาตรฐานนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าต่อไปงานนี้เราอาจจะไม่ใช่จำกัดอยู่แต่ภายในประเทศ อาจจะต้องมีการติดต่อไปถึงประเทศอื่นด้วย เป็นการสร้างความเจริญให้แก่ประเทศ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการทำงานในลักษณะที่คนอื่นยอมรับได้ นี่ก็เป็นความคิดเกี่ยวกับโครงการนี้

         

7)  วันที่ 22 เมษายน พ.. 2541 พระราชทานแนวทางการดำเนินงานที่เกาะแสมสาร และเกาะข้างเคียง

พระ ราชทานพระราชดำริกับนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และนายพิศิษฐ์ วรอุไร ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราช ดำริฯ เมื่อคราวนำคณะเจ้าหน้าที่มูลนิธิ TOTAL และเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากประเทศฝรั่งเศสเข้าเฝ้าถวายรายงานการสำรวจเบื้องต้นที่เกาะแสมสาร โดยมีพระราชดำริสรุปได้ดังนี้
       -ให้ดำเนินการทั้ง 9 เกาะ เกาะแสมสารและเกาะข้างเคียง
     -ให้ศึกษาตั้งแต่ยอดเขาจนถึงใต้ทะเล
     -ให้ มีการรวบรวมพันธุ์ไม้นานาชนิด ทั้งพืชบนดิน และพืชน้ำ โดยเน้นระบบนิเวศวิทยาแบบภาพรวมทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงสัตว์ต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ได้รวมเอาเกาะเล็ก ๆ รอบเกาะแสมสารเข้าในโครงการในลักษณะผสมผสาน  เนื่องจากอยู่ใกล้กันและมีความคล้ายคลึงกันในหลาย ๆ ด้าน ให้ทำการสำรวจทั้งด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยา แร่ธาตุ ฯลฯ ไปพร้อมๆ กัน

         

8)  วันที่ 3 กันยายน พ.. 2541 พระราชทานแนวทางการดำเนินงานที่เกาะแสมสาร

พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในคราวเสด็จฯ ทอดพระเนตรความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการฯ ณ เกาะแสมสาร ดังนี้

 -ให้แสมสารเป็นแหล่งศึกษา

                     -การดำเนินงานของ อพ.สธ.-ทร. เกาะแสมสารควรพิจารณาหาแหล่งน้ำจืดให้เพียงพอแนวการดำเนินงาน ณ เกาะแสมสาร

                   - การดำเนินงานในเบื้องต้น อาคารสิ่งก่อสร้าง ควรทำในลักษณะชั่วคราวและเรียบง่าย ไม่ควรจัดให้มีที่พักนักท่องเที่ยว และให้ชมรมอาสาสมัครเข้ามาช่วยดำเนินการในด้านการเรียนรู้ การเผยแพร่ผลการศึกษาทรัพยากรธรรมชาติ

                   - ควรจัดกลุ่มเยาวชนเข้ามาศึกษาธรรมชาติในลักษณะ organized tour โดยให้ความสำคัญต่อกลุ่มเยาวชนที่มีฐานะยากจน สอนให้รักธรรมชาติให้รู้ว่าทำอะไรได้ทำ อะไรไม่ได้ ยังไม่ควรที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์การเดินทางมาท่องเที่ยวให้มากนัก ให้ใช้เป็นที่สำหรับให้อาจารย์ นิสิต นักศึกษาเข้ามาใช้ทำการศึกษาวิจัยได้

 

9)  วันที่ 4 กันยายน พ.. 2541 ณ เกาะแสมสาร

พระราชทานแนวทางในการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ณ เกาะแสมสารเพิ่มเติม ดังนี้ เกาะแสมสารมีขนาดเล็ก ระบบนิเวศน์เปลี่ยนง่าย ให้จัดเกาะแสมสารเป็นที่ศึกษาและให้นำเยาวชนโดยเฉพาะเยาวชนด้อยโอกาสเข้ามาศึกษา

 

          10) วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2543 ทรงให้พึงระวังการนำข้อมูลลงเว็บไซต์

ณ โรงเรียนสตรีภูเก็ต จ.ภูเก็ต

                   เมื่อ ครั้งเสด็จทอดพระเนตรงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนสตรีภูเก็ต บริเวณห้องพิพิธภัณฑ์พืชและทอดพระเนตรพันธุ์ไม้แห้งที่จัดแสดงไว้ในตู้เก็บ รักษา รับสั่งกับอาจารย์บุญศรี เทพบำรุง

พืช พรรณที่หายากหากได้มาก็บันทึกเก็บไว้เพื่อการศึกษาให้ดี การลงเว็บไซต์ ก็พึงระวัง บางทีเราศึกษาหามาได้ แต่เมื่อชาวต่างชาติเห็นจากเว็บไซด์ ก็อาจนำไปศึกษาและอ้างอิงเป็นของตนเองได้

         

11)  วันที่ 12 ตุลาคม พ.. 2543  พระราชทานแนวทางการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน

ณ ห้องประชุมสุธรรมอารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

                   พระราชทานพระราโชวาทให้ผู้เข้าร่วมประชุมในการประชุมสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน

                   ..โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้เริ่มต้นขึ้นราวปี พ.. 2535 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สถาบันต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ในการศึกษาพืชพรรณต่าง ๆ และบุคคลที่สนใจได้มีโอกาสปฏิบัติงานที่ศึกษาพืชพรรณต่าง ๆ ที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศไทย ได้ศึกษาวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ได้รวบรวมเป็นหลักฐานไว้และเพื่อเป็นสื่อในระหว่างสถาบันต่าง ๆ บุคคลต่าง ๆ ที่ทำการศึกษาให้สามารถร่วมใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้การศึกษาไม่ซ้ำซ้อน สามารถที่จะดำเนินการไปก้าวหน้าเป็นประโยชน์ในทางวิชาการได้ ส่วนโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนนั้น ก็เป็นงานที่สืบเนื่องต่อจากงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพิ่งจะได้เดินทางไปเยี่ยมดูโรงเรียนทั้งในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้เห็นว่าโรงเรียนบางแห่งนั้นมีภูมิทัศน์ที่ร่มรื่นมีพืชพันธุ์หลายชนิด ในวิชาเรียนของนักเรียนที่จริงตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ๆ ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถม มัธยม ทางครูอาจารย์ก็มักจะสอนให้นักเรียนศึกษาถึงโลกของเรา เรื่องของธรรมชาติ ฉะนั้นการที่ศึกษาของใกล้ตัวได้แก่ พืชพรรณที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้น ก็เป็นสิ่งที่ง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่ายสูง และมีประโยชน์เพิ่มประสบการณ์แก่นักเรียนในด้านต่าง ๆ ได้ จึงเห็นว่างานที่คนในระดับที่เป็นผู้ใหญ่ได้ทำได้ศึกษาในพืชพรรณต่าง ๆ แม้แต่เด็กระดับเล็กก็น่าจะได้ประโยชน์ด้วย โรงเรียนบางแห่งก็ตั้งอยู่ในที่ทุรกันดาร แต่ก็ยังมีพืชพรรณต่าง ๆ ขึ้นอยู่ ที่คนอื่น ๆ นอกพื้นที่จะเข้าไปศึกษาได้ยาก ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองก็อาจจะมีความรู้นั้นมากกว่าคนอื่น ๆ นักเรียนก็อาจจะเรียนจากผู้ปกครองของนักเรียน เป็นเรื่องของภูมิประเทศท้องถิ่นว่าพืชชนิดนี้คืออะไร  แล้วก็ได้ศึกษาเปรียบเทียบกับวิทยาการสมัยใหม่ที่ครูบาอาจารย์สั่งสอน หรือมีปรากฏในหนังสือ  นอกจากนั้นการศึกษาเรื่องพืชพรรณ  น่า จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนในแง่ต่าง ๆ ได้ คนที่ศึกษาเรื่องพืชนั้นก็ได้รับความสุขความสบายใจ มีความคิดในด้านสุนทรีย์ ด้านศิลปะในแง่ต่าง ๆ อาจจะศึกษาหรือใช้เป็นอุปกรณ์การศึกษาในหมวดวิชาต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งครูและนักเรียนโรงเรียนได้นำมาปฏิบัติ แต่ละโรงเรียนก็มีความคิดแตกต่างกันไป หรือว่าบางอย่างก็เหมือนกัน บางอย่างก็แตกต่างกัน ก็เป็นเรื่องที่ดีถ้าทุกโรงเรียนสามารถที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยการมาเสนอผลงาน หรือว่านำผลงานมาบันทึกลงในสื่อต่าง ๆ ที่จะสามารถนำมาแลกเปลี่ยนกันได้ จึงเห็นว่าในการจัดงานในลักษณะนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และนักเรียนในโรงเรียนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ขอแสดงความยินดีด้วยกับโรงเรียนที่ได้รับรางวัล และโรงเรียนที่ สามารถรักษามาตรฐานของสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเอาไว้ได้ พวกที่รักษามาตรฐานไว้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องเสียอกเสียใจไป เพราะการที่จะจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานก็ไม่ใช่ของที่ง่าย   และ โรงเรียนที่อยู่ในลักษณะต่าง ๆ ก็อาจจะไม่สามารถที่จะปฏิบัติงานในด้านนี้ได้อย่างเต็มที่ทุกแห่ง ก็ถ้ามีความพยายามก็ขอให้พยายามต่อไป แต่ว่าถ้ามีกิจกรรมในด้านอื่นที่เร่งด่วนกว่า ทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องเสียใจที่ไม่ได้รางวัล หวังว่าการศึกษาเท่าที่ปฏิบัติมาก็จะปฏิบัติต่อไปในอนาคต มีประโยชน์ ในการที่จะได้เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ ที่นักเรียนจะต้องศึกษาต่อไปในระดับสูง หรือว่าเพิ่มพูนความรู้ต่าง ๆ ในด้านวิชาชีพ ซึ่งนักเรียนก็อาจจะนำไปประกอบอาชีพได้ต่อไป ยกตัวอย่างเช่น มีนักเรียนบางโรงเรียนที่ศึกษาในด้านของการเขียนภาพทางวิทยาศาสตร์ นั่นก็จะใช้เป็นอาชีพในอนาคตเป็นต้น หวังว่าทุกคนคงได้รับประโยชน์ในการมาร่วมประชุมในครั้งนี้ ทั้งครูนักเรียนและผู้เกี่ยวข้องมีความสุขสวัสดีทั่วกัน

 

 

          12)  วันที่ 31 พฤษภาคม พ.. 2544  พระราชทานแนวทางการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย อพ.สธ-ทร.

                   นายแก้วขวัญ  วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง นายสุเมธ  ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เลขาธิการ กปร. และดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ  ได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา เนื่องในโอกาสที่นำผู้บัญชาการทหารเรือและคณะเข้าเฝ้าน้อมเกล้าฯ ถวายพื้นที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย โดยมีพระราชดำริสรุปได้ดังนี้

                   -ทรง ยินดีที่กองทัพเรือสนองพระราชดำริในการอนุรักษ์ทรัพยากรซึ่งทำได้เป็นอย่าง ดีมาโดยตลอด ทั้งที่ภารกิจหลักคือการป้องกันราชอาณาจักร

                   -การทำพิพิธภัณฑ์นี้ในด้านการก่อสร้างควรทำเป็นอาคารถาวร โล่งกว้าง ดูแลรักษาสะดวกง่าย ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณ ดังที่ทอดพระเนตรที่พิพิธภัณฑ์การกีฬาของกรมพลศึกษา ส่วนท่าเทียบเรือ ขอให้นำไปพิจารณาทบทวน

               ใน ด้านสาระจะต้องใช้เป็นการสอนและปรับปรุงให้ใหม่ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ ดังที่ทอดพระเนตรที่โรงเรียนสตรีภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และควรมีงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง

                  ใน ด้านการจัดแสดงผลงานวิชาการ ควรคำนึงถึงการซ่อมบำรุง การใช้อุปกรณ์ช่วยแสดงที่ซับซ้อนอาจชำรุดง่าย ทำให้ต้องซ่อมแซมบ่อย การลงทุนก็อาจสูง ไม่ประหยัด

                   ในด้านการจัดการ ควรให้มีคนเข้ามาชมที่พิพิธภัณฑ์มากกว่าที่จะไปรบกวนบนเกาะเนื่องจากเกาะมีขนาดเล็ก เมื่อทำเสร็จแล้วให้ลูกทหารเรือเข้ามาชมและพิพิธภัณฑ์นี้ควรมีรายได้

                   ในด้านงบประมาณ ทางกองทัพเรือควรชี้แจงสำนักงบประมาณว่า กองทัพเรือทำงานนี้เพื่อความมั่นคงของประเทศ

                   -ทรง รับทราบเรื่องตำแหน่งของอาคารที่จะปรับเปลี่ยนจากอาคารเล็กหลายหลังเป็น อาคารใหญ่ ซึ่งต้องดูในพื้นที่จริงอีกครั้งว่าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมเห็นทะเลกว้าง และเกาะต่าง ๆ

                    -ทรง รับทราบเรื่องการดูแลพิพิธภัณฑ์ฯ นี้ว่า หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือเป็นผู้ดูแลตามคำกราบบังคมทูลของผู้บัญชาการทหารเรือ

 

          13)  วันที่ 21 มิถุนายน พ.. 2544 พระราโชวาทเป็นแนวทางเพื่อเข้าสู่แผนแม่บทระยะ 5 ปีที่สาม

ณ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                   พระราชทานพระราโชวาทในพิธีเปิดการแสดงนิทรรศการและประชุมวิชาการ  ทรัพยากรไทย : อนุรักษ์และพัฒนาด้วยจิตสำนึกแห่งนักวิจัยไทย สรุปได้ว่า

                   “…งาน การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชนี้ได้ดำเนินมาเป็นเวลาหลายปี เริ่มตั้งแต่ที่เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหาพรรณพืชต่าง ๆ ที่หายากมาปลูกเอาไว้เพื่อคนรุ่นหลังจะได้เห็นได้ศึกษาต่อไป และก็มีงานด้านวิชาการต่าง ๆ ที่ทำกัน ในประเทศไทยมีหน่วยงานหลายหน่วยที่สนใจในเรื่องการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพื่อการศึกษาพืชพรรณต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศ โครงการนี้มีจุดประสงค์สำคัญที่จะให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ทำงานมาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน รวบรวมข้อมูลเพื่อทำให้วิชาการด้านนี้ก้าวหน้าไปและเป็นการประหยัดเพราะแทนที่ต่างคนต่างทำ  งานไหนที่มีผู้ทำแล้วจะได้ร่วมกันทำโดยไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน ในวันนี้ได้มีการมอบฐานข้อมูลทางด้านพืชให้หน่วยงานต่างๆ ก่อนนี้ในหน่วยงานต่าง ๆ มีหอพรรณไม้ เช่น ที่กรมป่าไม้ มีหอพรรณไม้โดย มีพืชที่นักวิชาการ นักวิจัย ได้เก็บตัวอย่างพรรณพืชแห้ง เก็บไว้เป็นเวลาเกือบร้อยปีแล้ว ตัวอย่างพรรณไม้เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่มีค่าสูง จะเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษา แต่ของเหล่านี้ย่อมเก่าแก่ไปตามกาลเวลา แต่สมัยนี้เรามีเทคโนโลยีที่จะรักษาสิ่งเหล่านี้เพื่อให้นักวิชาการได้ศึกษา กันได้ก็เลยได้คิด ช่วยกันทำโครงการในการถ่ายรูปและถ่ายข้อมูลพรรณไม้เพื่อเป็นฐานข้อมูล แต่ในการเก็บฐานข้อมูลนี้ถ้าเก็บไว้แห่งเดียวก็อาจสูญหายได้ ก็มีความคิดกันว่าจะให้หน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกันเก็บ ที่หนึ่งเกิดเหตุเสียหายไปก็จะได้มีข้อมูลเอาไว้ ไม่สูญหายไปจากประเทศไทย ฐานข้อมูลนี้เป็นของที่มีค่า ต้องช่วยกัน
ดูแลให้ดีและผู้ที่จะมาใช้ก็ต้องดูแลใช้ให้ถูกต้อง ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย แก่มนุษยชาติต่อไป โครงการแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะทำสำเร็จในเวลาสั้น ๆ ต้องมีโครงการระยะที่หนึ่ง ระยะที่สอง และระยะต่อ ๆ ไป การจัดการประชุมนี้ก็เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเพิ่มพูนความรู้ใน ระดับนักวิชาการ และการจัดนิทรรศการจะมีโอกาสให้คนที่สนใจได้มาดูได้มาศึกษาแล้วก็ทราบถึงพืช ต่าง ๆ ต่อไปก็ต้องศึกษาเรื่องสัตว์สิ่งมีชีวิตและสิ่งธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งของพวกนี้เป็นสิ่งน่าสนใจ เมื่อสนใจแล้วก็จะมีความรู้สึกอยากปกปักรักษา ไม่ทำลายให้เสียหายสูญสิ้นไป ก็เป็นการช่วยอนุรักษ์เป็นอย่างดี…”

 

          14)  วันที่ 10 ตุลาคม พ.. 2544 ทรงมีพระราชดำริในการดำเนินงานของ อพ.สธ. ในเรื่องเว็บไซต์ ฐานข้อมูล พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพ.สธ. คลองไผ่

                   สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี   ได้มีพระราชดำริกับนายพรชัย  จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา สรุปได้ดังนี้

                   -ข้อมูล ของ อพ.สธ. ในส่วนของโฮมเพจ อพ.สธ. นั้นทรงเห็นว่าดีแล้วที่เจ้าหน้าที่ อพ.สธ. ควรดำเนินการเอง เพราะไปจ้างคนอื่นทำจะช้าและอาจไม่ได้ตามที่ต้องการ อีกทั้งการที่จะปรับปรุงข้อมูลก็ทำได้สะดวกกว่า สำหรับเว็บไซต์ อพ.สธ. ให้ไว้ที่เครือข่ายกาญจนาภิเษก NECTEC โดยจะทรงประสานให้

                   -ทรง ให้ดำเนินการเชื่อมข้อมูลกันระหว่างศูนย์ข้อมูลพรรณพฤกษชาติ หอพรรณไม้ กรมป่าไม้ กับศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช สวนจิตรลดา และทรงให้ดำเนินการทำฐานข้อมูลพรรณไม้แห้งโดยการบันทึกภาพตัวอย่างพรรณไม้ แห้ง บันทึกลงแผ่น photo CD และบันทึกข้อมูลพรรณไม้เมื่อแล้วเสร็จให้ทำสำเนาให้หน่วยงานนั้น ๆ

                   -ให้ มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์อนุกรมวิธานและผู้ที่เกี่ยวข้องใน เรื่องการจัดโปรแกรมเงื่อนไขเวลาเปิดข้อมูลและให้มีการทำรายละเอียดการขอใช้ ข้อมูล

                   -พื้นที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ คลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 395 ไร่ อาคาร 21 หลัง เป็นพื้นที่ราชพัสดุ ใช้เป็นพื้นที่ปลูกรักษาพันธุกรรมพืช ห้องปฏิบัติการเริ่มดำเนินการปี พ.. 2543 มีพระราชวินิจฉัยว่า

หากหน่วยปฏิบัติการพฤกษศาสตร์ หรือหน่วยใดมีความจำเป็นที่จะย้ายไปให้ทำเป็นโครงการเฉพาะไปก่อน

                   -การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย   พื้นที่บริเวณเขาหมาจอของกองทัพเรือ  มีพระราชวินิจฉัยว่า

ให้กองทัพเรือขอจาก กปร. เอง สำหรับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทยเมื่อเสร็จแล้วให้กองทัพเรือดูแลรับผิดชอบ จัดการ   โดยทางโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เป็นฝ่ายวิชาการ ให้มีการศึกษาต่อเนื่อง

           

 15)  วันที่ 27 กันยายน พ.. 2545 พระราชทานแนวทางการดำเนินงานที่เกาะแสมสาร

พระราชทานพระราชดำริกับกองทัพเรือ ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงวางแผ่นจารึกพระราชกระแส  และทอดพระเนตรความก้าวหน้าของ อพ.สธ.-ทร. ณ เกาะแสมสาร  ดังนี้
มีพระราชกระแสต่อผู้บัญชาการทหารเรือ ณ เนินจุดที่ 2 หลังจากรับฟังการถวายรายงานฯ และทอดพระเนตรแบบจำลองพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ความว่า

"เมื่อสร้างท่าเทียบเรือแล้ว คนคงขึ้นไปที่เกาะกันมาก"

 ในการนี้ผู้บัญชาการทหารเรือได้กราบบังคมทูลว่า

          "คงไม่มากเพราะอยู่ในพื้นที่กองทัพเรือ"

มีพระราชกระแสต่อนักเรียนนายเรือ ชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 ณ ชายหาดหน้าอาคารทรงงาน ความว่า

 "เป็นโอกาสดีที่นักเรียนได้มาเรียนรู้ในวันนี้  เป็นความรู้ที่ไม่มีในโรงเรียนปกติ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทหารเรือ ที่จะทำงานร่วมกับประชาชน ในการดูแลประเทศไทยอีกแง่หนึ่ง "

ทรงมีพระราชกระแสกับผู้ที่ร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารว่าง ณ อาคารทรงงานความว่า

                    "…ที่เกาะแสมสารจะทำแบบเกาะปอร์เกอรอลส์ไม่ได้ เพราะเกาะของเราเล็ก ฉะนั้นควรให้คนมาดูแล้วกลับไป ไม่มีที่ให้ค้าง…"

                   "… ทำที่นี่ให้เรียบร้อย ไม่ต้องไปที่อื่น เพราะที่อื่นไม่สามารถคุมคนได้…"

                    "… การก่อสร้างเอาแค่นี้"

 

17)  วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2546   ทรงพระราชทานแนวทางดำเนินงานของ อพ.สธ. เพื่อเข้าสู่แผนแม่บทระยะ 5 ปีที่สี่

ทรงพระราชทานพระราโชวาท  ในการเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : ธรรมชาติแห่งชีวิต  ณ ห้องประชุม สำนักพระราชวัง พระราชวังดุสิต

ข้าพเจ้ายินดีและขอบคุณทุกท่านที่มาพร้อมกันในวันนี้ ดังที่ได้ทราบแล้วว่า โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้ดำเนินมา 10 ปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ามีหลายหน่วยงานที่ดำเนินงานในลักษณะ ใกล้เคียงกัน  แต่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งจะทำ ครอบคลุมให้ประสบผลสำเร็จนั้นทำได้ยาก  ต้องร่วมมือร่วมใจและวางแผน ร่วมกัน  ตกลงกันให้แน่นอนว่าใครจะทำส่วนใด  เพื่อให้การศึกษาไม่ซ้ำซ้อน เกิดความสมบูรณ์ในการศึกษาวิจัย เกิดความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ทางวิชาการ  การประชุมในครั้งนี้เป็นการต่อเนื่องให้เห็นว่าโครงการแบบนี้ใช่ว่าจะสำเร็จในเวลาสั้นๆ ที่ต้องมีโครงการในระยะที่หนึ่ง ระยะที่สอง  โดยที่ขณะนี้อยู่ใน ระยะ 5 ปีที่สาม และจะมีระยะต่อๆ ไป  การประชุมนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพิ่มพูนความรู้ระดับนักวิชาการ ได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สถาบันต่าง ๆ มีหน้าที่ในการศึกษาพืชพรรณต่างๆ  และบุคคลที่สนใจได้มี โอกาสปฏิบัติงาน ที่ศึกษาพืชพรรณต่างๆ  ที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศไทย  ได้ศึกษาวิธีการทาง วิทยาศาสตร์ได้รวบรวมเป็นหลักฐานไว้   และเพื่อเป็นสื่อในระหว่างสถาบันต่างๆ บุคคลต่าง ๆ ที่ทำการศึกษาให้สามารถร่วมใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน  เพื่อให้การ ศึกษาไม่ซ้ำซ้อน สามารถที่จะดำเนินการให้ก้าวหน้าเป็นประโยชน์ในทาง วิชาการได้  ทำ ให้เห็นว่าโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ได้กลายเป็นศูนย์รวม ของผู้มีความรู้ ความสามารถ และเสียสละ พร้อมที่จะเป็นพลังที่สำคัญของ แผ่นดิน เกิดประชาคมวิจัยและวิชาการที่มีศักยภาพสูง งานของโครงการฯ ในปัจจุบันได้เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไม่เฉพาะแต่พืชเท่า นั้น สิ่งไร้ชีวิตเช่น หิน ดิน แร่  และ สิ่งมีชีวิตแทบทุกประเภทก็อยู่ในเป้าหมายด้วย เช่นกัน ทั้งหมดล้วนมีผลกระทบที่สำคัญต่อความอยู่รอดของชาติ และประการที่สำคัญที่สุดคือการร่วมงานของผู้คนจากหลายสถาบันที่มีทั้ง ธรรมชาติของการ ทำงาน ที่เหมือนกันและต่างกัน  แต่มาทำงานด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการ ร่วมสนองพระราชดำริ ในการเรียนรู้ทรัพยากร  การใช้ประโยชน์ และการสร้างจิตสำนึกของคนในชาติ ซึ่งจะนำไปสู่มรรคผลที่ยั่งยืน การปฏิบัติที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ของการทำงาน หวังว่าทุกคนคงได้รับประโยชน์ในการมาร่วมประชุมในครั้งนี้ ทั้งคณาจารย์ นักวิจัย ครู นักเรียน และผู้เกี่ยวข้องมีความสุขสวัสดีทั่วกัน

 

 18)  วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2547 ทรงมีพระราชวินิจฉัยในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ อนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน สู่เศรษฐกิจพอเพียง  ได้แก่

1.  ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช  โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯคลองไผ่  ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

2.  โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ  อำเภอไทรโยค  จังหวัดกาญจนบุรี (แปลง 905)

          

          19)  วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระราชวินิฉัย ITPGR

ทรงมีพระราชวินิจฉัย จากสถานการณ์ที่มีผลจากอนุสัญญาความหลากหลายทาง

ชีวภาพ  และสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร ที่ รล  0008/3133 ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ในเรื่อง สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (ITPGR)”

                    ...หาก ผลการวิจัย และประชาพิจารณ์ ประเทศไทยยังไม่พร้อม ก็ขอให้ชะลอไปก่อน ระหว่างนี้ ขอให้นักวิชาการทุกฝ่ายร่วมมือกัน เตรียมคนให้พร้อมโดยเร่งด่วน เพราะวันที่จำเป็นต้องรับการนี้ ต้องมาถึงสักวันหนึ่ง....       

 

20)  วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548 พระราชกระแสในเรื่อง DNA Fingerprint

ทรงมีพระราชกระแส  ในเรื่อง การดำเนินการ ให้มีการทำ DNA Fingerprint”

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร เวลาประมาณ 16.00น. กับนายพรชัย จุฑามาศ  ความว่า

                  ได้ไปกับ สมศ. (สำนักมาตรฐานการศึกษา)มา  เห็นว่าโรงเรียนยังสัมพันธ์กับชุมชนน้อย ทำอย่างไร ให้ชุมชนมาให้โรงเรียน โดยเฉพาะนักเรียน  ช่วยในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และให้มีการทำ DNA Fingerprint  ในโรงเรียน

 

21)  วันที่ 19 ตุลาคม พ.. 2548 ทรงพระราชทานแนวทางดำเนินงานของ อพ.สธ. เพื่อเข้าสู่แผนแม่บทระยะ 5 ปีที่สี่

พระราชทานพระราโชวาทในพิธีเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ  ทรัพยากร

ไทย : สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ คลองไผ่ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

                    ข้าพเจ้า ยินดีที่ได้มาพบกับท่านทั้งหลายอีกวาระหนึ่งในวันนี้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ดำเนินงานมาถึงปีนี้เป็นปีที่ 12 โครงการฯ ร่วมแรงร่วมใจกับหน่วยงานและสถานศึกษา หลายหน่วยงาน หลายสถาบัน ปฏิบัติงานด้านศึกษาและอนุรักษ์พันธุ์พืชต่างๆ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และรวบรวมผลการศึกษาวิจัยไว้เป็นหลักฐาน เป็นศูนย์รวมข้อมูลทางพันธุกรรมพืชที่สถาบันการศึกษาต่างๆ  และ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมใช้ฐานข้อมูลได้ ปัจจุบันงานของโครงการฯ มิได้จำกัดเพียงศึกษาอนุรักษ์พันธุ์พืชเท่านั้น แต่ขยายวงกว้างไปถึงการศึกษาเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอื่นด้วย เช่น ดิน หิน แร่ และสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนแต่มีความเกี่ยวพันกัน สิ่งหนึ่งสิ่งใดขาดไปก็จะกระทบต่อการดำรงอยู่ของชาติและประชาชน นอกจากศึกษาสภาวะของทรัพยากรธรรมชาติแล้ว การให้ความรู้แก่ประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเหมาะสม วิธีสงวนรักษา  เพื่อทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างยั่งยืนตลอดไป การประชุมครั้งนี้มี  คณาจารย์  นักวิจัย  นักเรียน  นักศึกษา  และเกษตรกรจำนวนมาก  เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็น  ข้าพเจ้าหวังว่าทุกท่าน จะได้รับประโยชน์จากการประชุมโดยทั่วกัน 

 

22)  วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2548 พระราชกระแสในเรื่องพันธุกรรมเห็ด

ในการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว 

ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ คลองไผ่ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 19-25 ตุลาคม พ.ศ. 2548  ทรงมีพระราชกระแสกับนายพรชัย  จุฑามาศ  ระหว่าง เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการสรุปของหน่วยงาน ส่วนราชการ ที่สนองพระราชดำริฯ บอร์ดนิทรรศการ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

                   พระราชกระแสโดยสรุป

                   ให้ทำเรื่องพันธุกรรมเห็ด มีพระสหายทำงานร่วมกับต่างประเทศ  ข้อมูลและพันธุกรรมเห็ด ถูกนำเอาไปหมด

 

           23)  วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2548 พระราชวินิจฉัยในเรื่องพื้นที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพ.สธ. คลองไผ่

ในการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว  ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ คลองไผ่ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 19 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ทรงมีพระราชกระแสกับนายพรชัย  จุฑามาศ ระหว่างเสด็จทอดพระเนตรพื้นที่บริเวณแปลงเกษตรอินทรีย์  

           พระราชกระแสโดยสรุป

เรื่องพื้นที่ค่อยๆทำไป  เรื่องเกษตรมีคนทำกันหลายคน อาชีวเกษตรค่อยคุยกัน   ให้ไปเจรจากับโรงเรียนจิตรลดา  เรื่องงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน

   

 24)  วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ในเรื่องพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย

ทรง มีพระราชกระแสกับรองผู้บังคับการหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ระหว่างเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2548   ในงานการประชุมวิชาการและนิทรรศการ  ทรัพยากรไทย : สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว  ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช  โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ คลองไผ่ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ความว่า

                     พิพิธภัณฑ์นี้ทหารเรือจะดูแลเองใช่หรือไม่

 

          25)  วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2548 พระราชกระแสในเรื่องเกาะแสมสาร

                    ทรงมีพระราชกระแสกับผู้ร่วมโต๊ะเสวยในส่วนกองทัพเรือ  พระราชทานให้กับผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ (พลเรือเอกกำธร พุ่มหิรัญ) และผู้ร่วมโต๊ะเสวย  อาทิ เลขาธิการพระราชวัง  (นายแก้วขวัญ  วัชโรทัย)  กรรมการที่ปรึกษาโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ  (ฯพณฯ องคมนตรี  อำพล เสนาณรงค์  ดร.พิศิษฐ์  วรอุไร)   เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ     ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา  ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ณ โต๊ะเสวยพระกระยาหารกลางวัน ในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ณ ศูนย์ฝึกอบรม โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ คลองไผ่ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

                     พระราชกระแสโดยสรุป

 ไม่ควรมีสิ่งก่อสร้างเพื่อการพักค้างคืน บนเกาะแสมสาร

                   ทรงรับทราบการจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการ ครั้งต่อไปในปี พ.ศ.2550 ในเรื่องทรัพยากรไทย : ประโยชน์แท้แก่มหาชน ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และจะเปิดพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนเข้าชม

         

26) วันที่ 30 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2550  พระราโชวาทให้ตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรอื่น ๆ นอกเหนือจากพรรณพืช

ทรงพระราชทานพระราโชวาทให้กับ อพ.สธ. และหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริฯ  ในการเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ  ทรัพยากรไทย : ประโยชน์แท้แก่มหาชน และ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย เขาหมาจอ  ต. แสมสาร อ. สัตหีบ จ. ชลบุรี         

ข้าพเจ้ายินดีที่ได้มาเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการทรัพยากรไทย : ประโยชน์แท้แก่มหาชน ที่จัดขึ้นในวันนี้  ข้าพเจ้า รู้สึกชื่นชมที่ได้ทราบว่า งานของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ขยายไปถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ขอขอบใจหน่วยงานทุก ๆ หน่วย ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานของโครงการก้าวหน้าไปด้วยดี ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีความสมบูรณ์มาแต่โบราณกาล ด้วยเหตุที่มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายทั้งพืช สัตว์ และแร่ธาตุ สมดังคำที่กล่าวว่า ทรัพย์ในดินสินในน้ำ ทรัพยากรเหล่านี้ให้คุณประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนทุกหมู่เหล่า ในด้านการยังชีพ อีกทั้งสร้างภาวะสมดุลให้แก่สภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติทุก ๆ สิ่งมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกัน หากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หมดสิ้นสูญไปก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่น ๆ ต่อสภาวะแวดล้อม และท้ายที่สุด ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสมบัติของเราพวกเราทุกคน ไม่ใช่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องช่วยกันปกปักรักษาทรัพยากรอันมีค่าให้ดำรงอยู่ ช่วยกันปลูกฝังและสืบทอดเจตนารมณ์เรื่องการอนุรักษ์ให้แก่อนุชน เพื่อให้ประเทศของเรายังมีทรัพยากรที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่มหาชนสืบ เนื่องต่อไป ได้เวลาอันควรแล้วข้าพเจ้าขอเปิดการประชุมนิทรรศการทรัพยากรไทยประโยชน์แท้ แก่มหาชน ณ บัดนี้ ขอให้งานบรรลุผลสำเร็จสมดังที่มุ่งหมายไว้ทุกประการ และขอให้ทุกท่านประสบแต่ความผาสุขสวัสดีโดยทั่วกัน

 

          27) วันที่ 19 ตุลาคม 2552  พระราโชวาทถึงความก้าวหน้าของ อพ.สธ. และงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน

                   ทรงพระราชทานพระราโชวาท  ให้กับ อพ.สธ. และหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริฯในการเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ  ทรัพยากรไทย : ผัน สู่วิถีใหม่ในฐานไทย และศูนย์อนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรภาคตะวันออก ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ข้าพเจ้ายินดีที่ได้มาเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : ผันสู่วิถีใหม่ในฐานไทยที่จัดขึ้นในวันนี้

                   โครงการ อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากหน่วยงานราชการหลายฝ่ายที่เห็นว่างานของ โครงการเป็นประโยชน์แก่ชุมชนและประเทศชาติ ทำให้โครงการสามารถขยายงานศึกษาค้นคว้าออกไปอย่างกว้างขวาง สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างเต็มที่เช่นในปัจจุบัน โครงการปฏิบัติงานศึกษาวิจัยและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชด้วยวิธีการทางวิทยา ศาสตร์ มีการส่งเสริมให้โรงเรียนในท้องถิ่นต่างๆ จัดทำสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน เพื่อนักเรียนจะได้ศึกษาเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติประจำท้องถิ่นของตนและใช้ สวนพฤกษศาสตร์เป็นห้องเรียนทางธรรมชาติ ปลูกฝังให้นักเรียนรักธรรมชาติ รักท้องถิ่น และเป็นกำลังช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ งานของโครงการในปัจจุบันมิใช่เพียงอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวแก่สิ่งมีชีวิต ทั้งบนบกตามเกาะแก่งต่างๆ ลงไปจนถึงในท้องทะเลที่ทางกองทัพเรือรับเป็นผู้ ดำเนินการจนประสบผลสำเร็จ เห็นได้จากการที่สามารถจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ที่อำเภอสัตหีบ ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรภาคตะวันออก และศูนย์ลายพิมพ์ ดี เอ็น เอ ที่จะเปิดในวันนี้ นับเป็นความสำเร็จที่น่าปลื้มใจอีกขั้นหนึ่ง

                   ข้าพเจ้า ยินที่ได้ทราบว่า การประชุมครั้งนี้มีหน่วยราชการ สถานศึกษา และเครือข่ายเกษตรกรเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้รับความรู้จากการประขุมครั้งนี้ และสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนของตนได้เป็นอย่างดี

                   ได้เวลาอันควรแล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดการประชุมและนิทรรศการ ทรัพยากรไทย : ผันสู่วิถีใหม่ในฐานไทยณ บัดนี้ ขอให้งานบรรลุผลสำเร็จดังวัตถุประสงค์ทุกประการ และขอให้ทุกท่านที่มาประชุมพร้อมกันในที่นี้ ประสบแต่ความสุขความเจริญสืบไป

 

28) วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553  พระราชวินิจฉัยและพระราชทานแนวทางการดำเนินงานในพื้นที่ กองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา  อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

                   นายพรชัย จุฑามาศรองผู้อำนวยการ อพ.สธ.  นำ พลเอก เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทยและคณะ ทูลเกล้าฯ ถวายแผนแม่บทการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราช ดำริฯ ในพื้นที่กองการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา  อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และขอพระราชทานพระราชวินิจฉัย ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา  สรุปความว่า

1.      พื้นที่ของ ทางภาคตะวันตกมีสภาพเป็นเขาหินปูน และพืชพรรณธรรมชาติ มีความพิเศษกว่าพื้นที่อื่น ควรมีการเฝ้าระวัง ไม่ให้มีคนมาตัดไม้ จัดทำทะเบียนพิกัดต้นไม้ รวบรวมพันธุกรรมพืช นำมาบันทึกไว้

2.      ทรงยกตัวอย่างการดูแลพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช อพ.สธ. ของกองทัพเรือ พร้อมทั้งกล่าวชมเชยว่าดูแลดี

3.      พื้นที่ กกส.สทพ.นทพ. มีพื้นที่มาก ให้ปฏิบัติตอนนี้คือการเก็บรักษาพื้นที่และทำการสำรวจอย่างเดียว

4.    พลเอก เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ให้คำยืนยันรับสนองพระราชดำริจะดำเนินการตามแผนแม่บทที่ได้ทูลเกล้าฯถวาย

                  

29) วันที่ 9 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2553 พระราโชวาทเกี่ยวกับความสำคัญของงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน

ทรงพระราชทานพระราโชวาทให้กับ อพ.สธ. และหน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริฯ ในการเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 1 โรงเรียนสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

                    ข้าพเจ้ายินดีที่ได้มาเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้นในวันนี้

                   โครงการ สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเป็นงานที่สืบเนื่องต่อจากงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เนื่องด้วยในหลายๆ โรงเรียนมีพืชพรรณหลายชนิด บางชนิดเป็นไม้หายากหรือเป็นไม้เฉพาะถิ่น ควรอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นแหล่งศึกษา หรือเพื่อประโยชน์ในด้านอื่นๆ ประโยชน์ในด้านการศึกษาเบื้องแรก คือการฝึกฝนเด็กให้รู้จักสังเกตพืชพรรณไม้ต่างๆ เป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติรอบตัวเด็กเอง ฝึกให้ค้นคว้าหาข้อมูลทั้งจากเอกสารสิ่งพิมพ์ และสืบถามหาคำตอบจากผู้ใหญ่ในชุมชน เด็กและผู้ใหญ่เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กันจะมีผลให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน นอกจากนี้เด็กจะได้ฝึกการทำงานร่วมกัน รู้จักออกความเห็น ฟังความเห็นของผู้อื่น กิจกรรมเหล่านี้ล้วนช่วยเสริมสร้างความสามารถในการเรียนรู้ตลอดจนอุปนิสัย ที่ดีให้แก่เด็ก เด็กได้รับการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความรักท้องถิ่นและสมบัติที่มีใจท้องถิ่นตั้งแต่ยังเยาว์วัย เมื่อเจริญเติบโตต่อไปก็จะเป็นที่พึ่งของถิ่นฐานและชาติบ้านเมืองได้

                   ข้าพเจ้า ขอขอบใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกๆ ฝ่ายที่ร่วมมือและสนับสนุนช่วยเหลือโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเป็นอันดี มาตลอด หากปราศจากความร่วมมือร่วมใจกันของท่านทั้งหลาย โครงการนี้ก็มิอาจจะสำเร็จเรียบร้อยหรือเจริญก้าวหน้าด้วยดีได้

                   ได้เวลาอันควรแล้ว ข้าพเจ้าของเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการ สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 1 ขออำนวยพรให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ ทั้งขอให้ทุกๆ ท่านที่มาประชุมพร้อมกันในที่นี้ประสบแต่ความสุขสวัสดีจงทั่วกัน

         

30) วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554   พระ ราโชวาทในเรื่องความสำคัญต่อการใส่ใจต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในเรื่องการสูญ เสียทรัพยากรธรรมชาติและการสร้างจิตสำนึกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยการศึกษา เรียนรู้โดยงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน

     เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดงานจัดการประชุมนานาชาติการประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ครั้งที่ 10” (10th Meeting of the High Level Group on Education for All หรือ EFA) จัดขึ้นวันที่ 22-24 มีนาคม ที่โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท จ.ชลบุรี  ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อเวลา 16.30 น. โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นางอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ องค์การยูเนสโก พร้อมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงผู้นำด้านการศึกษาของชาติสมาชิกองค์การยูเนสโก ที่มาเข้าร่วมการประชุมจาก 34 ประเทศทั่วโลก ให้ ผู้เข้าร่วมประชุมในการประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ครั้งที่ 10 ณ โรงแรมรอยัล คลิฟบีช พัทยา จังหวัดชลบุรี แปลจากพระราชดำรัสภาษาอังกฤษดังความตอนหนึ่งว่า

... ที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 2548 ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนการศึกษาเพื่อปวงชนอย่างแข็งขัน เห็นได้จากผลงานของข้าพเจ้าตลอด 30 ปีที่ผ่านมาและที่จะทำต่อไปในอนาคต นานาประเทศส่วนใหญ่รวมทั้งประเทศไทย มีความก้าวหน้าด้วยดีในการดำเนินการตามเป้าหมายทั้ง 6 ข้อ ของหลักการศึกษาเพื่อปวงชน ซึ่งข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีในความสำเร็จดังกล่าว ช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั่วโลก ก่อให้เกิดปัญหาและวิกฤติใหม่ๆทั้งในปัจจุบันและอนาคต เรากำลังเผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมสิ่งแวดล้อม ความสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ และพลังงานน้ำมันและถ่านหินที่ลดน้อยลง โครงสร้างทางประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุ และการขยายชุมชนเมืองอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ ได้นำไปสู่ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจในเวลาอันสั้น ช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั่วโลก ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีผลกระทบต่อเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตร้อน ซึ่งอุดมด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและธัญญาหาร ดังนั้นในอนาคตความมั่นคงทางอาหารของโลกอาจอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง นานาชาติได้ปรึกษาหารือกันและทำความตกลงที่จะช่วยกันชะลอความเปลี่ยนแปลงของ โลกที่ไม่พึงประสงค์ดังกล่าว การประชุมต่างๆ ล้วนแต่ระบุว่า การศึกษา คือกุญแจสำคัญ สองทศวรรษผ่านไปแล้ว จากนี้ไปการศึกษาเพื่อปวงชน มีภารกิจสองประการ ประการแรก คือ การยืนหยัดหลักการทั้ง 6 ข้อ ที่เกี่ยวกับสิทธิของมนุษย์ทุกคนที่จะได้รับการศึกษาพื้นฐาน ประการที่สอง คือ ความรับผิดชอบของทุกคนในฐานะพลเมืองโลกที่จะต้องร่วมรับผิดชอบปัญหาของโลก ดังนั้นการศึกษาเพื่อปวงชน จึงมิใช่เป็นเพียงการรู้หนังสือและทักษะเท่า นั้น แต่หมายรวมถึงความรู้ ทักษะและความใส่ใจปัญหาของโลกด้วย กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้สอกแทรกหลักการดังกล่าวในกิจกรรมการเรียนรู้หลายรูปแบบให้แก่นัก เรียนในโรงเรียนที่ห่างไกลตลอดมา อาทิ มีบทเรียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในและนอกหลักสูตร ในแต่ละโรงเรียนนักเรียนจะเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อผลิตอาหารบริโภคกันเอง นักเรียนจะเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการน้ำ พลังงาน และขยะ เพื่อรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนของตน แต่ละโรงเรียนจะมีสวนพฤกษศาสตร์โดยเฉพาะพืชและพันธุ์ไม้ท้องถิ่น กิจกรรมดังกล่าวช่วยให้นักเรียนรักธรรมชาติและสนใจอย่างจริงจังเกี่ยวกับ ความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ นักเรียนเหล่านี้ได้เรียนรู้และปฏิบัติการตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การศึกษาสามารถสร้างความตระหนักรู้ ทักษะที่จำเป็น และนิสัยให้แต่ละบุคคลสามารถรับมือกับปัญหาเหล่านั้นทั้งส่วนตัว ครอบครัวและชุมชน ส่วนผู้ที่มีทักษะวิชาชีพในระดับสูงขึ้นก็จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าองค์กรของ เขาควรจะมีส่วนช่วยเหลือสังคมอย่างไร...

 
สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ 61 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทรศัพท์ : (662) 561 4292-3 # 5103 โทรสาร : (662) 579 2740