" เป็นผู้นำ ด้านการบริหารจัดการป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนอย่างยั่งยืน รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ " วิสัยทัศน์ สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชดำรัสด้านทรัพยากรภูมิปัญญาและวัฒนธรรม
There are no translations available.

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พระราชดำรัสที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรภูมิปัญญาและวัฒนธรรม

 

1) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548  ทรงให้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เพื่อชนรุ่นหลัง

พระราชดำรัสในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม หัวข้อแนวทางการอนุรักษ์เชิงบูรณาการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จัดโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ดังความตอนหนึ่งว่า

.....ความเจริญก้าวหน้าที่เป็นไปอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน มีผลกระทบให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของคน และสภาพแวดล้อมของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป ชุมชนที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตตามแบบอย่างที่มีมาแต่เดิม ในปัจจุบันแทบไม่มีเหลือให้ชนรุ่นหลังได้ซึมซับความงามของวัฒนธรรมที่ตกทอดมาแต่อดีต ชุมชนเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีของคำว่าความพอเพียง คนในชุมชนพึ่งพาอาศัยกันได้ และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีขนบประเพณีอันดีงาม ภูมิปัญญาชาญฉลาด ชุมชนลักษณะนี้มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและจิตใจ เป็นประโยชน์ด้านการศึกษาในแง่มุมต่าง ๆ ปัจจุบันมีให้เห็นเพียงไม่กี่แห่ง หากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ก็จะสูญสลายไปอย่างน่าเสียดาย....

 

2) วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ทรงให้เห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

พระราชดำรัสในงานเทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 2551 ณ หอประชุมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ดังความตอนหนึ่งว่า
          ....พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นที่เก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของ บันทึกเรื่องราวความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ การที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจำนวนมากจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศมาร่วมกิจกรรมกันในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าชมงานจะได้ศึกษาข้อมูลความรู้เบื้องต้นของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่งได้ในคราวเดียว ขณะเดียวกันผู้ดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นก็จะได้เรียนรู้ลักษณะความคล้ายคลึงหรือแตกต่าง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือเพื่อพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้ก้าวหน้า สามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทั้งในและนอกท้องถิ่นได้อย่างเข้มแข็งยั่งยืน...

 

3) วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553  ทรงให้อนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย ยางรัก

พระราชดำรัสในการประชุมวิชาการนานาชาติ ศึกษายางรักเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “Study of Oriental Lacquer Initiated by H.R.H. Princess Maha Chakri Sirindhorn for Revitalization of Thai Wisdom” โดยกรมศิลปากร กรมป่าไม้ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ณ ห้องประชุม โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค  ดังความตอนหนึ่งว่า
        
        ....คนในซีกโลกตะวันออกหลายเชื้อชาติรู้จักนำยางรักมาใช้ประโยชน์มานานนับพัน ๆ ปี ทั้งในชีวิตประจำวัน  ได้แก่ การใช้ยางรักเคลือบพื้นไม้ให้สวยงามคงทน หรือภาชนะสานให้บรรจุของเหลวได้ และใช้ในงานศิลปะ คนไทยก็ใช้ยางรักเป็นวัสดุสำคัญในการสร้างสรรค์งานประณีตศิลป์ขั้นสูงมาเป็นเวลานาน งานลงรักปิดทอง เขียนลายรดน้ำ งานช่างประดับมุก ประดับกระจก หรืองานหัตถกรรมทั่วไป เช่น การทำเครื่องเขิน ล้วนต้องใช้ยางรักคุณภาพดีเป็นองค์ประกอบสำคัญ ยางรักที่ดีควรเป็นยางรักธรรมชาติที่มีคุณภาพ ซึ่งนับวันจะขาดแคลน เพราะไม้รักมีน้อยลง เป็นเหตุให้มีการใช้สารเคมีเจือปน ทำให้ยางรักมีคุณภาพต่ำ ไม่คงทน ใช้งานได้ไม่ดี การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์รัก ส่งเสริมการปลูกไม้รักสายพันธุ์ที่ให้ยางรักคุณภาพสูงในท้องถิ่นที่มีภูมิประเทศเหมาะสม จะเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางหลายสถานในระยะยาว เป็นการแก้ต้นเหตุแห่งปัญหา อันจะช่วยให้การอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาและศิลปะไทยเป็นไปอย่างยั่งยืน....” 

 

4) วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ทรงให้อนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยผ้าไหม

พระราชดำรัสในงานประชุมสัมมนาวิชาการหม่อนไหมอาเซียน และงานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 5 ประจำปี 2553 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติอิมแพค เมืองทองธานี ดังความตอนหนึ่งว่า

 “...ผ้าไหมเป็นสินค้าสำคัญมาแต่โบราณกาล ในเส้นทางแพรไหมอันลือชื่อ ผ้าไหมเป็นสายใยที่เชื่อมโยงซีกโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน นำผู้คนจากทั้งสองซีกโลกมาพบปะทำความรู้จัก ทำให้เกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน ผ้าไหมเป็นเครื่องหมายบ่งบอกความเจริญ ความมีอารยธรรมและภูมิปัญญาของชนชาตินั้น ๆ ผ้าไหมจึงมิได้มีความหมายเพียงเป็นอาภรณ์ประดับกาย หรือความหมายทางเศรษฐกิจเท่านั้น
          ในประเทศไทย ผ้าไหมก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและวิถีชีวิต คนไทยรู้จักปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมใช้มาเป็นเวลานาน ลวดลายผ้าในแต่ละภูมิภาคมีอัตลักษณ์ประจำถิ่น เมื่อพิจารณาจะสามารถเชื่อมโยงไปถึงวิถีชีวิตของผู้คน จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน
          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้นำในการใช้ผ้าไหมที่ราษฎรเป็นผู้ทอ ทรงส่งเสริมและพัฒนาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และวิธีการทอผ้าไหมของราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ ให้มีความสวยงาม มีคุณภาพดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวราษฎรเอง และยังเป็นการอนุรักษ์ภาคส่วนของวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ ปัจจุบันคนไทยนิยมใช้ผ้าไหมไทยกันแพร่หลาย ผ้าไหมไทยยังมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ทำรายได้ให้ประเทศชาติเป็นอันมาก...

 
สำนักโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้ 61 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
โทรศัพท์ : (662) 561 4292-3 # 5103 โทรสาร : (662) 579 2740