ปฏิทินกิจกรรม

เมษายน 2024
S M T W T F S
31 1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30 1 2 3 4

แบบสำรวจเว็บไซต์

คุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเว็บไซต์
 

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้224
mod_vvisit_counterเมื่อวานนี้184
mod_vvisit_counterสัปดาห์นี้1528
mod_vvisit_counterสัปดาห์ที่ผ่านมา1412
mod_vvisit_counterเดือนนี้4165
mod_vvisit_counterเดือนที่ผ่านมา7421
mod_vvisit_counterทั้งหมด864167

แบนเนอร์ซ้าย

แผนยุทธศาสตร์ PDF พิมพ์ อีเมล

ยุทธศาสตร์และแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้
สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่  6  (อุดรธานี)
รับผิดชอบจังหวัดอุดรธานี จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู และ จังหวัดบึงกาฬ


1.  ภาพรวมโดยทั่วไป

       
1.1  จังหวัดอุดรธานี  จังหวัดเลย  จังหวัดหนองคาย  จังหวัดหนองบัวลำภู  และจังหวัดบึงกาฬ  เป็นกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  ตามยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัด (กลุ่มที่ 6.1)  มีชายแดนติดต่อกับประเทศ  สปป.ลาวระยะทางยาวประมาณ 330 กิโลเมตร  โดยมีแม่น้ำโขงกั้นเขตแดน
        1.2  พื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด   มีพื้นที่ประมาณ  21.50 ล้านไร่  คิดเป็นร้อยละ 20.40 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงสลับภูเขา มีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 4.3 ล้านไร่คิดเป็นร้อยละ 20.35 ของพื้นที่กลุ่มจังหวัด มีธรรมชาติที่สวยงาม   มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอันดับสองของภาค    เป็นรองแค่เพียงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เท่านั้น มีแหล่งต้นน้ำที่สำคัญหลายสาย อาทิเช่น  น้ำป่าสัก  น้ำพอง  น้ำเลย  น้ำชี  น้ำโมง  และห้วยหลวง ฯลฯ

2.  สภาพปัญหา

        2.1  กลุ่มจังหวัดนี้ มีบทบาทเป็นประตูการค้าและการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านที่สำคัญที่ สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และยังเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป ไม้เมืองหนาว  และยางพาราของภาคมีผลผลิตอ้อยโรงงานประมาณ  4.6  ล้านตัน   คิดเป็นร้อยละ 25 ของผลผลิตอ้อยในภาค   มีโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่   2   แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกยางพารามากขึ้น    โดยมีพื้นที่ปลูกรวมประมาณ 2.9 แสนไร่คิดเป็นร้อยละ 45 ของการปลูกยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้น จึงส่งผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้เป็นอย่างมาก  เกิดปัญหาทำให้มีการบุกรุกเข้าครอบครองพื้นที่ทำการเกษตร    ทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรมมากกว่า 3 แสนไร่ และมีราษฎรในพื้นที่กลุ่มจังหวัด จำนวนนับหมื่นรายเข้าครอบครอง พื้นที่ของรัฐ   (ป่าสงวนแห่งชาติ  อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่า)  ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องดำเนินการแก้ไขตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  30 มิถุนายน 2541
        2.2  ผลจากการปฏิรูประบบราชการ  ทำให้หน่วยงานที่บริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ แบ่งออกไปอยู่คนละกรม  เช่น กรมป่าไม้   กรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า  และพันธุ์พืช  และสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เกิดความสับสนต่อประชาชน และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในบางประการ
        2.3  ในแง่ของบทบาทหน้าที่ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 6 (อุดรธานี) มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวง  ทั้งสิ้น 55 ป่า  เนื้อที่รวมประมาณ 8.5 ล้านไร่เศษ แต่ในข้อเท็จจริงได้มีการส่งมอบพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้แก่ ส.ป.ก. นำไปปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ไปเป็นจำนวนมากแล้ว  ดังจะเห็นได้ว่า จากสถิติการป่าไม้ปี  พ.ศ. 2547  ระบุว่า เนื้อที่ป่าไม้ของจังหวัดอุดรธานี  เลย หนองคาย และหนองบัวลำภู  มีพื้นที่ป่าเหลืออยู่เพียง 4.3 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 20.35 ของพื้นที่กลุ่มจังหวัด

3.  ประเด็นท้าทาย

        จะต้องบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้  เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติและระบบนิเวศ  ท่ามกลางกระแสความต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบตัดไม้ แปรรูปไม้ และการบุกรุกถือครองพื้นที่ป่า   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายพื้นที่การเกษตร  เช่น  ยางพารา

4.  ศักยภาพ  โอกาส  และข้อจำกัด

        4.1  พื้นที่ในความรับผิดชอบของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 6 (อุดรธานี)  เป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน บริเวณจังหวัดหนองคาย หนองบัวลำภู เลย และอุดรธานี  มีชายแดนติดแม่น้ำโขง  มีปริมาณฝนตกชุกเกินกว่าค่าเฉลี่ยของภาค จึงทำให้มีโอกาสที่ทรัพยากรป่าไม้จะฟื้นคืนตัวได้เร็ว  หากมีระบบการป้องกันพื้นที่ป่าที่มีประสิทธิภาพ  และได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการฟื้นฟูป่า
        4.2  มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อมที่สวยงามหลายแห่งสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้หรือการท่องเที่ยว เชิงนิเวศได้  นอกจากนี้ยังมีวัด
ป่าสายพระอาจารย์มั่นภูริทัตโตอนุรักษ์ป่าร่วมกับกรมป่าไม้หลายแห่งทำให้มี โอกาสในการเชื่อมโยงการจัดการทรัพยากรป่าไม้แบบมีส่วนร่วมได้อย่างคุ้มค่า และยั่งยืน
แผนยุทธศาสตร์ของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) ปี พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2553
วิสัยทัศน์ (Vision)

        สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี)  เป็นหน่วยงานหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”
พันธกิจ  (Mission)

        1.  เพื่อสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้  แบบบูรณาการเชิงรุก  โดยกระบวนการ มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
        2.  เพื่อพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรป่าไม้   โดยสอดคล้องกับหลักการอนุรักษ์ และความต้องการของชุมชน ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
ประเด็นยุทธศาสตร์  (Strategies  Issues)

        1.  การอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ให้คงสภาพไว้และฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้มีสภาพสมบูรณ์โดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
        2.  การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งในเขตเมืองและชนบท เพื่อลดการพึ่งพิงป่าธรรมชาติให้น้อยลง
        3.  การเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้กับทุกภาคส่วน  ทั้งในประเทศ
             และต่างประเทศ
        4.  การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ
        5.  การยกระดับการพัฒนาคุณภาพขององค์กร (สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้)
กลยุทธ์ (Strategies)

1.  ยุทธศาสตร์  :  การอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้เดิมให้คงสภาพไว้และฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้มีสภาพสมบูรณ์  โดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
ประกอบด้วย  4  กลยุทธ์ คือ
        กลยุทธ์ที่ 1.1  เพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครอง เฝ้าระวัง ดูแลรักษา ประชาสัมพันธ์ ป้องกันปราบปรามและการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
        กลยุทธ์ที่ 1.2  เร่งรัดฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยรูปแบบต่าง ๆ ให้กลับคืนความสมบูรณ์โดยเร็ว
        กลยุทธ์ที่ 1.3  เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของป่า ตามหลักการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยการจัดทำฝายต้นน้ำ ตามแนวพระราชดำร ตลอดทั้งการปลูกพืชคลุมดินเพื่อชะลอการไหล ของน้ำและลดการพังทลายของดิน  เป็นการป้องกันภัยธรรมชาติ
        กลยุทธ์ที่ 1.4  ลดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้และที่ดินของรัฐโดยการจัดระเบียบการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ การใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า และการพิสูจน์  สิทธิการถือครองทำกิน

2.  ยุทธศาสตร์  : การเพิ่มพื้นที่สีเขียว  ทั้งในเขตเมืองและชนบท เพื่อลดการพึ่งพิงป่าธรรมชาติให้น้อยลง
ประกอบด้วย  5  กลยุทธ์  คือ
        กลยุทธ์ที่ 2.1  ส่งเสริมการปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐ  เอกชน  และประชาชน
        กลยุทธ์ที่ 2.2  ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจและไม้โตเร็ว
        กลยุทธ์ที่ 2.3  เพิ่มศักยภาพการเพาะชำกล้าไม้  ทั้งไม้ป่าและไม้เศรษฐกิจ
        กลยุทธ์ที่ 2.4  ส่งเสริมและพัฒนาป่าชุมชน จัดตั้งป่าชุมชนและพัฒนาเครือข่ายป่าชุมชน
        กลยุทธ์ที่ 2.5  ส่งเสริมการประกอบอาชีพแบบวนเกษตร  การปลูกไม้อเนกประสงค์และปลูกพืชทดแทนพลังงาน

3.  ยุทธศาสตร์  :  การเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้กับทุกภาคส่วน  ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ประกอบด้วย  4  กลยุทธ์ คือ
        กลยุทธ์ที่ 3.1  ศึกษา วิจัย และจัดการองค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ตลอดทั้งส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้  เทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญา
        กลยุทธ์ที่ 3.2  ส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วม ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยเริ่มตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติร่วมรับประโยชน์ และร่วมติดตามประเมินผล
        กลยุทธ์ที่ 3.3  เสริมสร้างทักษะ ประสบการณ์ และพัฒนาศักยภาพ ของสมาชิกอาสาสมัครต่าง ๆ ที่กรมป่าไม้เคยจัดตั้ง
        กลยุทธ์ที่ 3.4  เชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้

4.  ยุทธศาสตร์  :  การพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพประกอบด้วย  3  กลยุทธ์  คือ
        กลยุทธ์ที่ 4.1  จัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่รับผิดชอบ  (อุดรธานี  หนองคาย  หนองบัวลำภู  และเลย)  โดยการสำรวจ  ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลตามหลักสถิติ และวิชาการที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
        กลยุทธ์ที่ 4.2  เสริมสร้างประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ข้อมูลทรัพยากรป่าไม้  โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ  และการสื่อสารที่ทันสมัย รวมทั้งบูรณาการเครือข่ายข้อมูลให้เกิดความเชื่อมโยงและให้ชุมชนเข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง
        กลยุทธ์ที่ 4.3  คุ้มครองรักษาแหล่งพันธุ์ไม้  พันธุกรรมพืช  แหล่งธรรมชาติที่สำคัญหรือซากดึกดำบรรพ์  เพื่อจัดการและพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้หรือแหล่งเรียนรู้หรือแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้มีคุณภาพระดับมาตรฐาน  และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

5.  ยุทธศาสตร์  :  การยกระดับการพัฒนาคุณภาพขององค์กร (สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้)ประกอบด้วย  กลยุทธ์ คือ
        กลยุทธ์ที่ 5.1  ปรับปรุงโครงสร้าง  ระบบ  และกระบวนงาน  ควบคู้ไปกับการเพิ่มขีดสมรรถนะ บุคลากรและสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงาน  ตามหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีและการบริหารภาครัฐแนวใหม่
        กลยุทธ์ที่ 5.2  ปรับปรุงสำนักงาน ตลอดทั้งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
        กลยุทธ์ที่ 5.3  เสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้  การตัดสินใจโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัยที่มีความเชื่อมโยงของเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
        กลยุทธ์ที่ 5.4  พัฒนากลไกและระบบการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ  เป็นที่ยอมรับของประชาชน

 
สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) 75 ถนนศรีสุข ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี 41000
โทรศัพท์ : 0-4222-1779 โทรสาร : 0-4224-8239